:: ความเป็นมา :: คณะทำงาน :: ผลประกอบการ :: สมัครสมาชิก :: ศูนย์วิทยุ :: จุดจอด :: บทความ :: คำแนะนำ  
                 
สาเหตุของการปฏิเสธลูกค้า
ข้อควรรู้ก่อนซื้อแท็กซี่
กำเนิดรถแท็กซี่
รถแท็กซี่ในไทย
ข้อควรรู้ก่อนซื้อรถแท็กซี่...!!!
ก่อนอื่น  ต้องขอแนะนำตัวก่อนนะครับ........เพราะผู้อ่านหลายท่านอาจจะอยากรู้ว่า ผมเป็นใคร ทำไมถึง (กล้า) ให้คำแนะนำในเรื่องรถแท็กซี่....ซึ่งในบทความต่อๆไปก็จะมีคำแนะนำกันไปเรื่อยๆ  ก็เพื่อ ประโยชน์ของท่านผู้อ่านนั่นแหละครับ.....ผมเป็นประธานสหกรณ์แท็กซี่สุวรรณภูมิ จำกัด มีประสบการณ์ เรื่องรถแท็กซี่มากกว่า  30 ปี เป็นทั้งคนเช่าขับ  เป็นทั้งเจ้าของรถเอง  ปัญหาทุกด้านก็ผ่านมาครบถ้วน แล้ว ถือว่าพอที่จะให้คำแนะนำสำคัญๆ กับท่านได้

การที่ท่านจะก้าวมาสู่อาชีพ  “ขับรถแท็กซี่ (มือใหม่)”   สิ่งที่ผมจะแนะนำอันดับแรกคือ ท่านควรศึกษาข้อมูลให้ ดีเสียก่อนและ “มั่นใจ”  ว่าสามารถทำ ได้ เพราะการ ลงทุนกับการซื้อรถแท็กซี่ ใหม่หนึ่งคัน เป็นการลงทุนที่  “สูง” พอสมควร  ตกคันละประมาณแปดแสน กว่าบาทราคานี้รวมอุปกรณ์ทุกชนิดแล้ว นะครับ  ถ้าท่านซื้อมาแล้วล้มเหลวเมื่อจะ ขายรถต่อให้คนอื่นราคารถก็ตกอย่างแน่นอน  ขาดทุนเป็นอย่างมาก เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว  ผมจึงขอแนะนำว่า ท่าน  “อย่าเพิ่ง”  ซื้อรถ  ขอให้ท่านทดลองเช่าขับสักระยะหนึ่งก่อน  สักประมาณ 15-30 วัน  แต่ว่าก่อนที่จะเช่าขับ ท่านก็ต้องศึกษาข้อมูลดูอีกเหมือนกันว่า จะขับ “สี” อะไร  สังกัด สหกรณ์ไหน หรือบริษัทอะไร   และเข้าร่วมกับศูนย์วิทยุ ใด  เพราะข้อมูลเหล่านี้จะเป็นตัวแปรรายได้ของท่าน  เพราะผู้โดยสาร ณ เวลานี้ เขาจะเลือกสี รถและสหกรณ์ พร้อมทั้งศูนย์วิทยุที่มีคุณภาพและความปลอดภัย  มีการบริการที่ดี สมาชิกมีระเบียบวินัย  เป็นต้น

หลังจากท่านได้เช่าขับระยะหนึ่งแล้ว  ท่านก็จะรู้คำตอบด้วยตัวของท่านเองว่า อาชีพ “ขับรถแท็กซี่” นี้ เหมาะกับท่านหรือไม่  สุขภาพร่างกายไหวหรือเปล่า รายได้คุ้มค่าหรือไม่  แต่อีกเรื่องหนึ่งที่ท่านอย่ามองข้ามคือ  ความเสี่ยงในอาชีพ ทั้งอุบัติเหตุและโจรผู้ร้าย...

หากท่านตัดสินใจแล้วว่า “อาชีพขับแท็กซี่” สุดแสนสบายสำหรับท่าน และพร้อมที่จะซื้อรถเพื่อประกอบอาชีพ  อันดับแรกที่ท่านจะต้องทำ คือ  จะต้องไปทำใบขับขี่รถรับจ้างสาธารณะ ใบประกอบการรถรับจ้างบุคคล (รถเขียว-เหลือง) ที่กรมการขนส่งทางบก  และคราวนี้  เราลองมาดูว่า  ท่านควรจะทำอย่างไรในการซื้อรถแท็กซี่ใหม่ 

ข้อแนะนำในการซื้อรถแท็กซี่ใหม่

ตัวรถ  จะเป็นรถยนต์ยี่ห้อใดก็ได้  ขอให้มีเครื่องยนต์ไม่ต่ำกว่า 1500  ซีซี   และท่านควรต้องทราบ ข้อมูลว่า รถแต่ละยี่ห้อที่ท่านจะซื้อราคาเท่าไร  ค่าซ่อมบำรุง อะไหล่ มีพร้อมและราคาเหมาะสมหรือไม่  ซึ่งเป็นเรื่องที่ท่านต้องพิจารณาและ ตัดสินใจเอง

ท่านจะต้องตัดสินใจว่า รถคันนี้จะจดทะเบียนเป็นรถส่วนบุคคล เขียว-เหลือง หรือจะเข้าร่วมกับ สหกรณ์ (หลากสี) ถ้าเป็นรถส่วนบุคคลก็ไม่มีอะไรมากนัก  เพียงแต่ติดตั้งแก๊ส จดทะเบียนเสร็จก็วิ่งรับ ผู้โดยสารทันที แต่ถ้าจะเข้าร่วมกับสหกรณ์ ท่านต้องศึกษามากกว่านี้ 

การเข้าร่วมกับสหกรณ์ (รถสีต่างๆ)  ท่านต้องรู้ว่ารถสีไหนที่คนชอบใช้บริการ สหกรณ์      ไหนที่ บริหารงานเป็นระบบของสหกรณ์อย่างแท้จริง ซึ่งจะดูได้จากสหกรณ์ที่มีการแสดงบัญชีอย่างเปิดเผย ทุกเดือน  สมาชิกมีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ของสหกรณ์ หรือไม่ มีสวัสดิการให้กับสมาชิกอย่างไรบ้าง การจัดอบรมให้ความรู้สมาชิกมากน้อยเพียงใด  เงินปันผลเป็นอย่างไร เป็นต้น   และสิ่งหนึ่งที่ท่าน จะลืมไม่ได้คือ การเก็บเงิน ค่าบำรุงและอื่นๆ ในขณะที่ท่านเป็นสมาชิกเป็นอย่างไร และเมื่อลาออก จากการเป็นสมาชิกต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง

การเข้าร่วมศูนย์วิทยุสื่อสารในรถแท็กซี่  ซึ่งปัจจุบัน มีอยู่  12  ศูนย์  แต่ละศูนย์เก็บค่าบริการและ การให้ บริการก็ต่างกัน จึงขอให้ท่านศึกษาให้ดีว่า ศูนย์ไหน ที่ท่านเข้าไป    ร่วมสังกัดแล้วท่านถึงจะคุ้มค่า  อย่า พิจารณาแต่ค่าบริการรายเดือนถูกเพียงด้านเดียว   ต้องพิจารณาว่า ท่านจ่ายค่าบริการแล้ว ท่านจะ เหลือเงินกลับบ้านได้มากกว่ากัน       (จึงจะเรียกว่า คุ้มค่า)  และบางศูนย์ ก็มีข้อกล่าวหาว่าเล่น พรรคเล่น พวกงานที่มีรายได้สูงก็จะจ่ายให้กับพรรคพวก  ดังนั้น  ท่านจะต้องใช้วิจารณญาณว่าศูนย์ไหนดีที่สุด

การติดตั้งแก๊ส   เวลานี้ในบ้านเราจะมีแก๊สให้เลือกอยู่  2  ประเภท คือ  LPG. กับ  CNG. แล้วแต่ ความต้องการของท่าน เพราะแก๊สทั้ง  2  ชนิดก็มีข้อดีข้อเสียไม่ต่างกันมากนัก ถ้าจะให้ผมแนะนำ
ผมจะแนะนำว่าติด CNG. ดีกว่า  เพราะอนาคตราคา LPG. จะแพงกว่า CNG. มาก

 การจัดไฟแนนซ์

กรณีท่านไม่ได้ซื้อรถเงินสด  แต่เช่าซื้อกับไฟแนนซ์  ซึ่งไฟแนนซ์แต่ละแห่งก็จะมีวิธีพิจารณาสินเชื่อ ระเบียบ และข้อบังคับต่างๆ แตกต่างกันไป  เช่น ไฟแนนซ์ที่เป็นผู้ประกอบการรถแท็กซี่ 
แต่ไม่มีีศูนย์วิทยุของตนเอง
  ก็จะบังคับให้สังกัดอยู่กับเขา  ส่วนศูนย์วิทยุก็เข้าร่วมกับผู้อื่น 

ไฟแนนซ์ที่เป็นผู้ประกอบการ และมีศูนย์วิทยุเป็นของตนเอง
 ถ้าท่านใช้บริการของไฟแนนซ์ ประเภทนี้  ท่านจะเข้าสู่ระบบของเขาทั้งหมดแบบครบวงจร 

ไฟแนนซ์ที่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการ  และไม่มีศูนย์วิทยุของตนเอง
  ท่านจะต้องเข้าร่วมกับ
สหกรณ์ที่ไฟแนนซ์เห็นชอบด้วย  ส่วนศูนย์วิทยุท่านสามารถเลือกเองได้

 

ก่อนทำสัญญาเช่าซื้อ
ท่านต้องรู้อะไรบ้าง

หากท่านตัดสินใจแล้วว่าจะซื้อรถแน่นอน พิจารณาโดยละเอียดถี่ถ้วนถึงข้อดีข้อเสีย ของการใช้บริการ
ไฟแนนซ์แล้ว เมื่อท่านจะทำการเช่าซื้อ ท่านต้อง
ทำความเข้าใจและอ่านรายละเอียดต่างๆ ให้ชัดเจน
ในเรื่องต่อไปนี้

 

  1. สัญญา
    1. สัญญาเช่าซื้อ
    2. สัญญาเข้าร่วมเดินรถกับสหกรณ์หรือนิติบุคคลทั่วไป
    3. สัญญาเข้าร่วมศูนย์วิทยุ
    4. ผู้ค้ำประกัน
    5. ใบสมัครเป็นสมาชิกสหกรณ์
  2. สมุดคู่มือการจดทะเบียน  (กรมการขนส่งทางบกเป็นผู้ออกให้)  ควรมีข้อความระบุ ดังนี้

         2.1  ผู้ถือกรรมสิทธิ์                     ชื่อบริษัทไฟแนนซ์  (ผู้ให้เช่าซื้อ)
2.2  ผู้ครอบครองรถ                    ชื่อเจ้าของรถ   (ผู้เช่าซื้อ) 
ชื่อผู้ให้เข้าร่วมเดินรถ (ชื่อนิติบุคคลหรือสหกรณ์)

กรณีมีการเปลี่ยนหรือโอนชื่อในสัญญาต่างๆ เช่น สัญญาเช่าซื้อ สัญญาเข้าร่วมเดินรถ สัญญาเข้าร่วมศูนย์วิทยุ  ท่านต้องถามให้ได้ข้อมูลที่ลายลักษณ์อักษร  มิฉะนั้นอาจมีปัญหาตามมาภายหลัง 

หลังจากชำระค่างวดงวดสุดท้ายแล้ว  ท่านจะลาออกหรือย้ายออกจากสังกัดของไฟแนนซ์ที่ มีประกอบการเดินรถและมีศูนย์วิทยุเป็นของตนเองว่าจะมีค่าใช้จ่ายใดๆ หรือไม่

การซื้อรถมือสอง 

สำหรับท่านที่มีทุนน้อย และต้องการซื้อรถมือสอง  อันดับแรกที่จะแนะนำคือ ท่านจะต้องมีความรู้เกี่ยวกับ เครื่องยนต์บ้าง หรือมีญาติพี่น้องที่มีความรู้เรื่องเครื่องยนต์ ก็จะมีปัญหาน้อยหน่อย  เพราะท่านก็ทราบดี อยู่แล้วว่า รถแท็กซี่ทุกคันใช้งานมากกว่ารถบ้าน  8 – 10 เท่า  ดังนั้น  สภาพรถก็จะต้องสึกหรอตามการ ใช้งานไปด้วย  


ถ้าท่านโชคดีได้ซื้อรถมือสองที่เป็นเจ้าของรถขายเองและขับมือเดียว  การสึกหรอก็จะน้อย และการดูแลบำรุงรักษาจะดีกว่ารถที่เป็นรถเช่า ตามอู่  เพราะฉะนั้นการจะซื้อรถมือสองท่าน ต้องสอบประวัติรถให้ดีๆ ก่อนมิฉะนั้นท่านจะเสียใจไปตลอด เพราะจะต้องซ่อมทุกวันไม่ต้องทำ มาหากินกันเลย



เมื่อท่านได้รถมือสองที่ท่านพอใจสภาพรถและประวัติแล้ว  ก่อนซื้อ สิ่งที่ท่านจะต้องตรวจสอบเพิ่มมีดังนี้

  1. สอบถามสหกรณ์หรือนิติบุคคลที่รถคันนั้นสังกัดอยู่ ว่ามีค้างชำระค่าอะไรบ้างหรือเปล่า เช่น ค่าบำรุงสหกรณ์ ค่าเข้าร่วมเดินรถ เงินกู้สหกรณ์ฯ และอื่นๆ  ถ้าไม่เรียบร้อย สหกรณ์หรือนิติบุคคลนั้นๆ ก็จะไม่โอนเอกสารให้  รถก็ไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้
  2. สอบถามถึงค่าใช้จ่ายในการโอน ว่ามีอะไรบ้าง และต้องตกลงกับผู้ขาย ว่าใครจะเป็นคนรับผิดชอบ
  3. การเข้าเป็นสมาชิกใหม่ของสหกรณ์ หรือนิติบุคคล จะมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เช่น ค่าแรกเข้า ค่าบำรุง  ค่าหุ้น  และอื่นๆ  เพราะบางแห่งจะมีค่าใช้จ่ายสูงมาก
  4. ดูสมุดคู่มือจดทะเบียนว่า ขาดการต่อภาษีหรือไม่ มีอายัดหรือเปล่า  เลขเครื่องยนต์หรือเลขตัวถึง หรือถังแก๊ส ตรงกับสมุดคู่มือหรือไม่
  5. สิ่งสำคัญสุดท้ายและสำคัญที่สุดคือ  ขอให้ท่านจ่ายเงินในวันจดโอนทะเบียนให้เรียบร้อย  ถ้าเซ็นโอนลอยไว้อาจมีปัญหา เพราะฉะนั้น จึงขอเน้นว่า  เมื่อโอนทะเบียนเสร็จค่อยจ่ายเงิน ยื่นหมูยื่นแมวจะสบายใจกว่า

ทั้งหมดที่ผมได้กล่าวมานี้  เป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะปัจจุบันการขายรถแท็กซี่มือสอง  มีรูปแบบต่างๆ และการอธิบายไม่ค่อยครบถ้วนเมื่อท่านซื้อไปแล้วมีปัญหาเกิดขึ้น  เขาก็จะปฏิเสธ ความรับผิดชอบ ถ้าท่านมีคำถามหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อสอบถามมายังผมได้โดยตรงตาม ที่อยู่ของสหกรณ์ฯ ได้เลยครับ

ขอให้ท่านที่กำลังจะซื้อรถแท็กซี่ทั้งแท็กซี่ใหม่และแท็กซี่มือสองโชคดีในการหารถที่ถูกใจและได้
คุณภาพ ........นะครับ

เดโช  เอี่ยมชีรางกูร
ประธานสหกรณ์แท็กซี่สุวรรณภูมิ จำกัด



Copyright © by Suvarnabhumi Taxi Co-Op. All Rights Reserved.