:: ความเป็นมา :: คณะทำงาน :: ผลประกอบการ :: สมัครสมาชิก :: ศูนย์วิทยุ :: จุดจอด :: บทความ :: คำแนะนำ  
                 
สาเหตุของการปฏิเสธลูกค้า
ข้อควรรู้ก่อนซื้อแท็กซี่
กำเนิดรถแท็กซี่
รถแท็กซี่ในไทย
เหตุผลที่คนขับแท็กซี่ ... ปฏิเสธ ... ผู้โดยสาร



สวัสดีครับ...
พี่น้องชาวกรุงเทพมหานคร และผู้ใช้บริการรถแท็กซี่ทุกท่าน  กระผม สมาชิกผู้ขับรถ
แท็กซี่ ศูนย์ วิทยุโฮวา รหัส 0001  ที่ผ่านมา มีคำถามมายังกระผมหลายครั้งว่า ทำไม่คนขับแท็กซี่จึง
ปฏิเสธ ผู้โดยสาร  วันนี้ กระผมจึงขอมาพูดคุยและบอกถึงสาเหตุว่า เป็นเพราะอะไรเขาจึงปฏิเสธ  กระผมเชื่อว่า  หลายท่านคงเคยประสบปัญหานี้อยู่เสมอ ถึงแม้จะมีระเบียบจากกรมการขนส่งทางบก
ว่า  รถแท็กซี่ ทุกคัน ห้ามปฏิเสธผู้โดยสาร  แต่ในทางปฏิบัติแล้ว มีการปฏิเสธผู้โดยสารอยู่ตลอดเวลา
จนเหมือนเป็น เรื่อง ปรกติธรรมดา โดยคนขับมักจะให้เหตุผลว่า ต้องไปส่งกะ  หรือ  รถติด ซึ่งเหตุผล
เหล่านี้เป็น เหตุผล ที่ง่ายที่สุดที่จะหยิบยกขึ้นมาบอกให้ผู้โดยสารได้ทราบ แต่สาเหตุที่แท้จริงและ
ลึกลงไปแล้วมี มากกว่าที่บอก และอันดับต้นๆ ของการร้องเรียนทางหมายเลข 1584 ของกรมการ-ขนส่งทางบก คือ การปฏิเสธผู้โดยสารเช่นกัน

จากเหตุผลที่คนขับปฏิเสธผู้โดยสาร มักจะมีเหตุผลที่ได้ยินบ่อยๆ คือ ส่งกะ  และ  รถติด กระผมจึง ขอนำสองประเด็นเหตุผลนี้ มาขยายความคือ 

ส่งกะ เชื่อว่าส่วนหนึ่งต้องรีบไปส่งกะจริง  การที่จอดรับผู้โดยสาร เพื่อดูว่าเป็นเส้นทาง เดียวกัน
หรือเปล่าหากใช่ก็เพิ่มรายได้อีก 1 เที่ยว   ถ้าคนละเส้นทางก็จำเป็นต้องปฏิเสธ  เพราะหากไป
ส่งกะช้าจะทำให้ถูกปรับค่าเช่าจากเจ้าของอู่อีกทั้งคู่กะก็เกิดความเสียหายจากการรอรับรถ 

รถติด ต้องยอมรับว่า สภาพการจราจรในกรุงเทพฯ ณ ปัจจุบันติดขัดตลอดเวลาอาจเป็น เพราะ
สภาพเศรษฐกิจ ของประชาชนดีขึ้น หรือ ราคาน้ำมัน เชื้อเพลิงถูกลงจึงทำให้มีการใช้รถยนต์มากขึ้น
แต่อาชีพขับรถแท็กซี่เป็นอาชีพที่ต้องอยู่บนท้องถนนตลอด ระยะเวลาของการทำงาน ฉะนั้นรถติด
จึงถือเป็นเรื่องปรกติของอาชีพนี้

เหตุผลจริงๆ ที่คนขับต้องปฏิเสธผู้โดยสาร เกี่ยวข้องโดยตรงกับ “ค่าโดยสาร”  เพราะปัจจุบัน
ค่าโดยสาร ไม่มีความเป็นธรรมสำหรับคนขับ หากท่านนั่งรถแท็กซี่ ลองถามว่า แต่ละวัน
พวกเขาเหลือเงินคนละกี่บาท เชื่อว่าคำตอบที่ได้อยู่ระหว่าง 300-500 บาท/วัน  แต่ถ้าวันไหนโชคร้าย
เจออุบัติเหตุและตัวเองเป็นคนผิด นอกจากไม่ได้เงินแล้ว จะต้องจ่ายค่าซ่อม ให้กับเจ้าของอู่ หรือถูก
ตำรวจปรับ จำนวนเงินรายได้ก็น้อยลงไปอีก  ถามว่า เงินรายได้ 300-500 บาท/วัน จะเพียงพอ
หรือไม่กับการใช้จ่ายของครอบครัว โดยเฉพาะถ้า มีลูกอยู่ในวัยเรียนด้วยแล้ว  ถ้าพอใช้ก็เป็นไป
อย่างกระเหม็ดกระเหม่ และนั่นหมายถึงจะต้อง มีวินัยในการใช้เงินด้วยจึงจะพอใช้

ด้วยเหตุนี้  เมื่อคนขับออกวิ่งรถ สิ่งแรกที่พวกเขาคาดหวัง คือการได้ผู้โดยสาร และรายได้ควร จะเป็น
เท่าไหร่ของวันนั้น    ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วรายได้รวมของคนขับแท็กซี่ในแต่ละวัน ที่ยังไม่หัก ค่าใช้จ่าย
เฉลี่ยวันละ 1,200 บาท – 1,500 บาท  และมีค่าใช้จ่ายที่ต้องหักโดยประมาณในแต่ละวัน ดังนี้


1. ค่าเช่า 550-600 บาท  เพราะคนขับส่วนใหญ่ 80%  เป็นผู้เช่าขับ  ส่วนคนขับที่เป็นเจ้าของรถ
     ก็ต้อง เก็บเงินสำหรับเป็นค่างวดไม่น้อยกว่าวันละ  500-600 บาท เช่นกัน
2.  ค่าแก๊ส NGV.  200.- บาท  และมากขึ้นตามจำนวนเที่ยววิ่ง 
3.  ค่าอาหาร (12 ชม.)  และค่าใช้จ่ายส่วนตัวอื่นๆ  120.-  บาท 
4.  ค่าล้างรถ  30.- บาท

จากข้างต้นเห็นว่า จะมีค่าใช้จ่ายแต่ละวันที่คนขับต้องจ่ายตายตัวอยู่ระหว่าง  900-950 บาท 
หากวันนั้นมีรายได้  1,200 บาท  ก็จะเหลือเงินจริงๆ  250-300 บาท เท่านั้น   ซึ่งในขณะนี้
รัฐบาลมีนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ  300.- บาท  คนขับแท็กซี่ก็ถือได้ว่าอยู่ในเกณฑ์แล้ว  แต่จำนวน
ชั่วโมงทำงานแต่ละคนประมาณ  12  ชั่วโมง  และมีความเสี่ยงสูงหลายด้าน โดยเฉพาะด้านความ
ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน  ทั้งเรื่องอุบัติเหตุ  เรื่องอาชญากรรม จี้ ปล้น  

ทั้งหลายเหล่านี้  เป็นมูลเหตุให้คนขับแท็กซี่ต้องปฏิเสธผู้โดยสาร  เมื่อเห็นว่าหากไปแล้วไม่คุ้มกับ
ค่าโดยสาร ที่ควรได้รับ  แต่บางท่านบอกว่าจะให้ค่าโดยสารเพิ่มจากมิเตอร์อีก 50 บาท  ซึ่งผมเชื่อว่า
คนขับส่วนใหญ่ตอบรับ  ทุกท่านอย่าคิดว่าเป็นการฉวยโอกาสของคนขับแท็กซี่เพราะความเป็นจริงแล้ว
คนขับทุกคนไม่มีใครอยากปฏิเสธผู้โดยสารแม้แต่คนเดียว เพราะนั่นหมายถึงเงินรายได้ที่เขาจะได้รับ
แต่ต้องมีความสมเหตุสมผลในเรื่องของค่าโดยสารด้วย  จะบอกว่าคนขับทุกคนไม่ได้เป็นนักฉวยโอกาส ก็พูดยากอยู่เหมือนกัน เพราะคนขับบางคนก็มีพฤติกรรมน่ารังเกียจใช้โอกาสฉกฉวยเช่นกัน  แต่ทั้งนี้
ทั้งนั้น ขอให้ทุกท่านมองในภาพรวมมากกว่า และจะเห็นว่าสิ่งที่กระผมพูดมาทั้งหมดนี้เป็นจริง
เช่นไรบ้าง

การแก้ปัญหาสำหรับเรื่องนี้ ต้องแก้ที่การกำหนดอัตราค่าโดยสาร ให้มีความเป็นธรรมและ สมเหตุ
สมผลให้คนขับแท็กซี่อยู่ได้   โดยขณะนี้ กรมการขนส่งทางบกยังกำหนดอัตราค่าโดยสาร ต่ำเกินไป 
เพราะที่ท่านได้กำหนดนั้นมุ่งไปยังผู้ใช้บริการเพียงด้านเดียว  ด้วยเกรงว่าถ้าปรับเพิ่มมากเกินไป
ภาระจะตกอยู่กับผู้ใช้บริการ  โดยท่านได้หลงลืมมองในส่วนของคนขับแท็กซี่  จึงทำให้เกิดปัญหา
เหล่านี้ขึ้น และทำให้คนขับบางคนหาทางเอาเปรียบผู้โดยสารไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง   จึงขอให้
ภาครัฐ โดยเฉพาะกรมการขนส่งทางบก ได้พิจารณาเรื่องการปรับอัตราค่าโดยสารอีกครั้งหนึ่ง  ซึ่งการ
ปรับนี้ไม่ได้หมายถึงการปรับทั้งระบบ เพราะที่ท่านกำหนดไว้จะแบ่งอัตราค่าโดยสารเป็น  3  ระยะ
คือ  ระยะใกล้  ระยะกลาง  และระยะไกล   ซึ่งการพิจารณาอัตราค่าโดยสารใหม่ควรพิจารณาในแต่ละ
ระยะ ดังนี้

อัตราค่าโดยสารระยะใกล้  
ควรพิจารณาปรับเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย อัตราค่าโดยสารระยะ
กลางมีความเหมาะสมดีอยู่แล้ว 
อัตราค่าโดยสารระยะไกล  
เป็นอัตราค่าโดยสารที่มีปัญหามากที่สุด  เพราะตามที่กรมการขนส่ง
ได้ออกระเบียบว่า รถแท็กซี่ทุกคันจะต้อง เก็บค่าโดยสารตามอัตรา
มิเตอร์ ทั้งวิ่งในกรุงเทพ ปริมณฑล และต่างจังหวัดแต่ในทางปฏิบัติ
แล้ว ท่านทราบหรือไม่ว่าหากระยะทางวิ่งเกิน  60 กม.หรือรถที่วิ่งออก
ต่างจังหวัด 

อัตราค่าจ้างจะเป็นราคาเหมาทั้งหมด ซึ่งเป็นราคาที่คนขับ
กับผู้ใช้บริการตกลงกันด้วยความสมัครใจ  เพราะหากวิ่งตามราคา
มิเตอร์ จะไม่ได้ราคาที่แท้จริง  เช่น  วิ่งจากกรุงเทพฯ  ไปพัทยา 
ระยะทางประมาณ  130 กม.  อัตราเหมาอยู่ระหว่าง  1,200 –
1,500.- บาท  แต่ถ้าวิ่งตามมิเตอร์จะอยู่ประมาณ  900 บาท  ซึ่งเป็นอัตราที่คนขับไม่สามารถอยู่ได้ 
เพราะราคา 900.- บาทนี้  ท่านคำนวณเฉพาะขาไปเที่ยวเดียวเท่านั้น โดยไม่ได้คำนึงถึงใน เที่ยวขา
กลับด้วย  และเที่ยวขากลับนี้  คนขับแท็กซี่จึงต้องพยายามหาผู้โดยสารกลับมาให้ได้  ถ้าได้ไป
ใน จังหวัดหรือสถานที่ท่องเที่ยว การหาผู้โดยสารเที่ยวกลับก็ยังพอได้อยู่ โดยเฉพาะในช่วงกลางวัน 
ซึ่งอาจถูกกดราคา หรืออาจต้องเสียค่าคิวให้กับเจ้าถิ่นนั้นๆ  แต่หากเป็นยามวิกาล การได้ผู้โดยสาร
ก็เป็นไปได้ยาก  และการรับผู้โดยสารในเที่ยวกลับนี้ ก็จะมีปัญหากับทางตำรวจอีกเช่นกัน เพราะจะ
ถูกปรับในข้อหารับผู้โดยสารข้ามเขต  ซึ่งความจริงแล้ว สามารถรับผู้โดยสารได้ทั่วราชอาณาจักร 
แต่คนขับแท็กซี่ส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย จึงเป็นช่องให้ถูกจับปรับและเสียเงิน

                                
เพราะฉะนั้น อัตราค่าโดยสารที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ สามารถใช้ได้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น คือระยะใกล้
และระยะกลาง ส่วนระยะไกลก็เป็นปัญหาตามที่กล่าวข้างต้น 

 

ทั้งหมดนี้เป็นสาเหตุหลักที่คนขับแท็กซี่ต้องปฏิเสธผู้โดยสาร และ เป็นสาเหตุที่คนขับแท็กซี่ไม่สามารถ
อธิบายให้ผู้โดยสารฟังได้เช่นกัน  จึงขอวิงวอนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง พิจารณาอัตรา
ค่าโดยสารอีกครั้ง เพื่อให้พวกเราคนขับแท็กซี่  ได้มีเงินเหลือเก็บ มีเงินออมไว้ใช้ยามฉุกเฉินบ้าง
กรณีที่คนขับเป็นเจ้าของรถ หากรถเสีย ไหนจะขาดรายได้ เพราะรถต้องเข้าอู่  ไหนจะต้องจ่ายค่าซ่อม 
ไหนเงินค่างวดจะสะสม  หรือกรณีเช่าขับ หากเกิดเจ็บป่วยไม่สามารถขับรถได้ ก็ขอให้มีเงินออมไว้
ใช้ยามเจ็บป่วยบ้าง  เพราะทุกวันนี้คนขับแท็กซี่  มีเงินใช้อย่างจำกัดเพียงพอ แต่ไม่พอเพียง กับการ
เก็บออม  จึงอยากขออนาคตให้กับพวกเราบ้าง  ไม่ใช่เป็นผู้หาเช้ากินค่ำ และเป็นผู้ด้อยโอกาสไปตลอด

Copyright © by Suvarnabhumi Taxi Co-Op. All Rights Reserved.